Extrovert, Introvert คืออะไร? แล้วคุณมีพฤติกรรมแบบไหน?
การแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแวดและสังคมรอบข้างของคุณเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณเป็นคนที่มีลักษณะบุคลิกภาพที่จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทใด การที่คุณได้รู้จักกับตัวเองจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับพฤติกรรมและอารมณ์ ทั้งของตนเองและบุคคลรอบข้างได้ง่ายขึ้น
จากแนวคิดเรื่อง Introvert และ Extrovert ของจิตแพทย์ชาวสวิส Carl G. Jung ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 เขาเชื่อว่าบางคนรู้สึกมีความสุขและมีพลังในการดำเนินชีวิตจากการได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม (Extroverts) และมีบางกลุ่มที่รู้สึกชอบในความสงบมีความสุขเมื่อได้อยู่กับตนเอง และชอบปลีกตัวออกจากผู้คนรอบข้าง (Introverts)
Extrovert คือ คนที่มีความสุขกับการได้เข้าสังคมพบปะผู้คนใหม่ๆ พวกเขาชอบที่จะออกไปข้างนอก เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆทางสังคมและยังชอบมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ซึ่งคนที่อยู่ในกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นบุคลิกลักษณะของ “คนทั่วไป” นั่นเอง
Introvert คือ คนที่ชอบเก็บตัวและไม่ชอบการเข้าสังคม พวกเขามีความสุขที่ได้โดยการใช้เวลาอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนที่เขาใกล้ชิดมากๆ เพียงแค่ 1 หรือ 2 คน แต่ส่วนใหญ่แล้วคนกลุ่มนี้ต้องการ “เวลาอยู่คนเดียว” เพื่อเติมเต็มความสุขทางใจให้กับตนเองหลังจากการพบปะกับผู้คน
ในบุคคลที่มีลักษณะพฤติกรรมรูปแบบ Introvert บางครั้งมักจะถูกมองว่าเป็นคนขี้อายหรือต่อต้านสังคม แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะของ Introvert ไปเสียทีเดียว เพราะ introvert คือบุคคลที่จะชอบพูดคุยกับคนที่พวกเขารู้จักเป็นอย่างดีและสนิทใจที่จะพูดคุยด้วยเท่านั้น และโดยทั่วไปแล้วพวกเขาไม่ชอบการพูดคุยแบบผิวเผิน แต่จะชอบการสนทนาที่มีความลึกซึ้งเข้าถึงความรู้สึกและจิตใจของกันและกันระหว่างการสนทนามากกว่า
นักประสาทวิทยาเชื่อว่าคนกลุ่ม Extrovert อาจตอบสนองในเชิงบวกต่อสิ่งรอบตัวได้ดีกว่าคนกลุ่ม Introvert เนื่องจากสมองของพวกเขาปล่อยสารโดปามีนในปริมาณที่มากกว่า (Dopamine ทำให้มนุษย์เรารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิ และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น)
ประเภทบุคลิกภาพทั้งสองแบบนี้ ถูกแบ่งออกจากจากได้อย่างชัดเจนเพื่ออธิบายถึงพฤติกรรมของคน 2 กลุ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีพฤติกรรมส่อไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งของทั้งสองรูปแบบนี้อย่างเต็มที่ เขาเหล่านั้นอาจมีอารมณ์พฤติกรรมของทั้งสองรูปแบบนี้รวมกัน โดยอาจเอนเอียงไปทาง Extrovert หรือ Introvert ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อารมณ์ ณ ปัจจุบัน และนั่นจึงทำให้เกิดการเรียกกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมที่อยู่ตรงกลางเหล่านี้ว่า Ambivert
บทความใกล้เคียง