ด้วยการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบของผู้คนในยุคปัจจุบันนี้ทำให้เกิดการรับประทานอาหารที่ไม่เป็นเวลา หรืออาจกินหนักในมื้อเดียว ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาหาร ท้องอืด ท้องแน่น อาหารไม่ย่อย ขับถ่ายไม่สะดวก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และซื้อยามารับประทานเอง แต่ในความจริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนิ่วในถุงดีก็เป็นได้
รู้จักโรคนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อย เกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี โดยก้อนนิ่วที่ตกตะกอนอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ จำนวนตั้งแต่หนึ่งก้อนไปจนถึงหลายร้อยก้อน หากปล่อยให้อักเสบหรือติดเชื้อก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
- นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) อาจเป็นสีเหลือง ขาว เขียวเกิดจากการตกตะกอนไขมัน เนื่องจากคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี
- นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) อาจเป็นสีคล้ำดำ เกิดจากความผิดปกติของเลือด โลหิตจาง ตับแข็ง
- นิ่วโคลน (Mixed Gallstones) เป็นคล้ายโคลน เหนียว หนืด เกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน
อาการบอกโรค
นิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีบางอาการ แต่ไม่ครบทุกอาการดังต่อไปนี้
- ท้องอืด
- แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารไขมันสูง เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
- ปวดใต้ลิ้นปี่ / ชายโครงด้านขวา
- ปวดร้าวที่ไหล่ / หลังขวา
- คลื่นไส้อาเจียน (ถุงน้ำดีติดเชื้อ)
- มีไข้หนาวสั่น
- ดีซ่าน / ตัว – ตาเหลือง (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
- ปัสสาวะสีเข้ม (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
- อุจจาระสีขาว (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
กลุ่มเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี
- เพศหญิง 40 ปีขึ้นไป
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ภาวะอ้วน น้ำหนักมาก
- คอเลสเตอรอลสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคเลือด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
- ตั้งครรภ์หลายครั้ง
- กินยาคุมกำเนิด
- ทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน
- ผู้ที่อดอาหาร (ถือศีลอด) หรือลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
- ทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิด
- พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัว
วิธีการรักษา
ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก Advanced MIS และฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดนิ่วด้วยโปรแกรม ERAS ที่ช่วยเร่งให้การผ่าตัดฟื้นตัวเร็วขึ้น และปรับให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงควรปรับเรื่องการกินหลังผ่าตัดควบคู่ไปด้วย เช่น ช่วงแรกควรทานอาหารย่อยง่าย ลดอาหารไขมันสูงเลี่ยงอาการท้องอืดท้องเสีย ลดปริมาณอาหารลงแต่เพิ่มจำนวนมื้อช่วยให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทานอาหารได้ตามปกติ